วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Trade Policy : Protectionism

Trade Policy : Protectionism

นโยบายทางการค้า : ลัทธิปกป้อง

ทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่ให้ภาครัฐบาล
วางข้อกำหนดในการควบคุมหรือจำกัดจำนวนหรือประเภทของสินค้าเข้าที่ส่งเข้ามาขายในรัฐ ลัทธิปกป้องนี้จะมีการใช้มาตรการต่อไปนี้ คือ (1) ภาษีศุลกากร(2) กำหนดโควตา (3) การออกใบอนุญาต (4) การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา และ(4) มาตรการอย่างอื่น ทั้งนี้เพื่อช่วยให้มีการลดหรือกำจัดสินค้าสั่งเข้า หรือเพื่อเพิ่มต้นทุนของโภคภัณฑ์ผู้บริโภคจากต่างประเทศที่เข้ามาแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ภายในประเทศ มาตรการที่นำมาใช้ปกป้องสินค้าที่ผลิตภายในประเทศนี้ จะมีระดับความรุนแรงเคร่งครัดมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ทุกประเทศจะมีการใช้มาตรการปกป้องบางประการดังกล่าวเสมอ

ความ
สำคัญ ลัทธิปกป้องทางการค้าได้มีการนำมาใช้โดยรัฐบาลต่างๆนับตั้งแต่ที่ได้มีการพัฒนาการพาณิชย์ระหว่างประเทศขึ้นมาตั้งแต่ยุคแรกๆ หลักการนี้จะมีการนำไปใช้แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐและในแต่ละยุคสมัย ในประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่ จะเกิดการโต้แย้งกันระหว่างฝ่ายที่ให้การสนับสนุนการค้าเสรีกับฝ่ายที่สนับสนุนลัทธิปกป้อง ข้างฝ่ายที่สนับสนุนให้ภาครัฐบาลทำการปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศก็อ้างว่า (1) อุตสาหกรรมที่ตั้งขึ้นมาใหม่ภายในประเทศนั้นจะต้องได้รับการคุ้มครองจนกว่าจะเข้มแข็งพอที่จะแข่งขันกับผู้ผลิตต่างประเทศที่มีความคว่ำหวอดและมีประสิทธิผลแล้วนั้นได้ (2) ในประเทศที่กำลังพัฒนานั้น เมื่อไม่ยอมให้มีการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปเสียแล้ว ก็จะเป็นการไปบีบบังคับให้บริษัทผู้ผู้ผลิตต่างๆต้องเข้าไปตั้งโรงงานที่ เป็นสาขาของตนในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งก็เป็นการส่งเสริมให้เกิดความทันสมัยได้เป็นอย่างดี (3) ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นทรัพยากรประเภทสิ้นเปลืองนั้น ก็จะได้รับการคุ้มครองจากการถูกต่างชาติเข้ามากอบโกยเอาไปเสีย (4) ต้นทุนการผลิตระหว่างสินค้าที่ผลิตภายในประเทศกับสินค้าที่ผลิตจากต่าง ประเทศจะได้เท่ากัน เป็นการให้ความคุ้มครองแรงงานภายในประเทศให้สามารถแข่งขันกับแรงงานต่างประเทศของประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีค่าแรงต่ำได้ (5) เครื่องมือของลัทธิป้องกันนี้สามารถนำไปใช้ในการเจรจาทางการค้าเพื่อขอแลกเปลี่ยนผ่อนปรนจากรัฐอื่นได้ (6) ภาษีศุลกากรสามารถเป็นแหล่งของรายได้สำหรับรัฐยากจนได้ (7) ในการป้องกันประเทศจำเป็นต้องมีอุตสาหกรรมที่จำเป็น กล่าวคือ เหล็กกล้า เครื่องมือจักรกล การสร้างเรือ เป็นต้น ที่ได้รับการคุ้มครอง เพื่อว่าจะได้มีเอาไว้ใช้ในกานทำสงครามสมัยใหม่ และ (8) ชาติที่ประสบกับปัญหาการขาดดุลการชำระเงิน ก็อาจจะใช้เครื่องมือลัทธิปกป้องนี้เพื่อแก้ไขการขาดดุลและการปกป้องทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของตนได้ ข้างฝ่ายผู้ที่คัดค้านลัทธิปกป้องนี้ก็มีข้อโต้แย้งว่า ลัทธิปกป้องนี้มีแนวโน้มว่าจะไปทำลายการแบ่งงานทำระหว่างประเทศและความชำนาญเฉพาะทางที่เกิดขึ้นด้วยพลังของตลาดในสภาพแวดล้อมของการค้าเสรี ผลที่ตามมาก็คือ ลัทธิปกป้องนี้จะ (1) เป็นการปกป้องผู้ผลิตที่ไม่มีประสิทธิผล (2) ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นสำหรับผู้บริโภค (3) เป็นการยอมให้รัฐบาลเข้ามาชี้นำการค้าเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งชาติแต่ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ ในระหว่างทศวรรษปี 1980 การแข่งขันทางการค้าของโลกเป็นไปอย่างเข้มข้น ทำให้ในสหรัฐอเมริกาเกิดการเผชิญหน้าทางการเมืองครั้งสำคัญ ระหว่างพวกที่ให้การสนับสนุนลัทธิปกป้องกับพวกที่เรียกร้องให้มีภาวะการแข่งขันกันและการค้าเสรีมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม