วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Monetary Policy : International Monetary Fund(IMF)


Monetary Policy : International Monetary Fund(IMF)

นโยบายทางการเงิน : กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)

ทบวงการ
ชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ที่ได้ก่อตั้งขึ้นมาโดยการประชุมการเงินและการคลังเบรตตันวูดส์ปี ค.ศ. 1944 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศ วัตถุประสงค์หลักของกองทุนการเงินระหว่างประเทศมีดังนี้ คือ (1) เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพในการปริวรรตเงินตรา (2) เพื่อจัดตั้งระบบการชำระเงินในแบบพหุภาคีทั่วโลก และ(3) เพื่อจัดหาเงินทุนสำรองเพื่อช่วยชาติสมาชิกแก้ปัญหาความเสียเปรียบดุลการชำระเงินในระยะสั้น เมื่อปี ค.ศ. 1987 กองทุนการเงินระหว่างประเทศมีสมาชิกจำนวน 151 ชาติ กองทุนการเงินระหว่างประเทศมีหน้าที่สร้างเสถียรภาพทางการเงิน 2 ประการ คือ (1) คอยกำกับดูแลค่าของเงินตราโดยควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน (2) กำหนดให้มีข้อตกลงร่วมกันที่จะทำให้สมาชิกซื้อเงินตราต่างประเทศด้วยเงินตราสกุลภายในชาติตนเพื่อนำมาแก้ปัญหาในช่วงที่ประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจขั้นร้ายแรงได้ เมื่อสมาชิกสามารถทำได้เช่นนี้ก็จะนำการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั้นมาใช้ซื้อเงินตราสกุลของตนคืนและกองทุนการเงินระหว่างประเทศก็จะได้เงินคืนไป อำนาจในการลงคะแนนเสียงในกองทุนการเงินระหว่างประเทศถูกกำหนดด้วยขนาดของเงินอุดหนุนของชาติสมาชิก ทั้งนี้โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ถือเงินอุดหนุนอยู่ถึงหนึ่งในห้าของเงินอุดหนุนทั้งหมด ปกติแล้วการตัดสินใจในกองทุนการเงินระหว่างประเทศจะริเริ่มโดยกลุ่มจี -10 คือ กลุ่มมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมใหญ่ 10 ชาติที่จะลงคะแนนเสียงกันในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

ความสำคัญ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศก่อตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันมิให้ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองหวนกลับคืนสู่สภาวะทางการคลังที่สับสนวุ่นวายของช่วงทศวรรษปี 1930 โดยเป็นช่วงที่อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราเกิดการผันผวนอย่างหนักและเกิดการแข่งขันลดค่าเงินสกุลของแต่ละชาติเป็นว่าเล่น การลดค่าเงินตราที่สำคัญๆไม่เกิดขึ้น ยกเว้นการลดค่าเงินสกุลปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษในปี ค.ศ. 1949 และ 1967 และกองทุนการเงินระหว่างประเทศโดยทั่วไปแล้วยังประสบความสำเร็จในการเสริมสร้างเสถียรภาพค่าของเงินตรา แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศก็กำลังเผชิญปัญหาที่สำคัญ คือ (1) การขาดดุลการชำระเงินของสหรัฐอเมริกาอย่างซ้ำซากต่อเนื่อง (2) การขาดแคลนทุนสำรองระหว่างประเทศในช่วงที่การค้ากำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และ (3) การเรียกร้องให้กลับไปใช้ระบบมาตราทองคำ เมื่ออุปทานของทองคำและดอลลาร์ที่จะนำมาใช้เป็นเงินทุนสำรองมีอยู่อย่างจำกัด เมื่อปี ค.ศ. 1969 กองทุนการเงินระหว่างประเทศจึงได้เริ่มให้มีการใช้ระบบสิทธิเบิกเงินพิเศษ(สเปเชียล ดรอวิ่ง ไร้ท์ =เอสดีอาร์) เพื่อนำเงินมาเสริมทุนที่มีอยู่นั้น โดยมีการเบิกเงินพิเศษในระบบเอสดีอาร์นี้ในระยะเริ่มแรกมีมูลค่าถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยเหตุที่เอสดีอาร์นี้เป็นเพียงตัวหนังสือในแฟ้มธุรการของระบบบัญชีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเท่านั้นเอง พวกสื่อมวลชนก็จึงให้สมญานามเอสดีอาร์นี้ว่า ทองคำกระดาษเมื่อเกิดวิกฤติการณ์หนี้สินขึ้นมาในกลุ่มประเทศโลกที่สาม กองทุนการเงินระหว่างประเทศก็ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้กู้รายสุดท้ายเพื่อป้องกันมิให้เกิดการ ชักดาบหนี้สินเก่า ทั้งนี้โดยได้ปล่อยเงินกู้ก้อนใหม่ให้ประเทศลูกหนี้เหล่านี้นำไปชำระคืนหนี้เงินกู้เก่า ในทศวรรษปี 1980 กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ร่วมมือกับธนาคารโลกในการหามาตรการป้องกันมิให้กลุ่มประเทศโลกที่สาม ชักดาบเงินกู้ ทั้งนี้โดยใช้วิธีนำเงินที่ปล่อยกู้นั้นไปผูกหูไว้กับการจ่ายคืนหนี้ที่สำคัญที่ประเทศนั้นๆมีอยู่กับสถาบันทางการเงินต่างๆทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม