วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Monetary Policy : Flexible Exchange Rates


Monetary Policy : Flexible Exchange Rates

นโยบายทางการเงิน : อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่น

ระบบการเงินระหว่าง
ประเทศ ที่ค่าเงินตราของแต่ละชาติจะถูกกำหนดโดยสภาวะของพลังตลาดเสรี ระบบอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นนี้หมายถึงว่า ค่าของเงินตราของแต่ละชาติจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆอันเป็นผลมาจากแรงกระทบของอุปทานและอุปสงค์ของเงินตราแต่ละสกุล อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นได้ถูกกำหนดขึ้นมาใช้เมื่อปี ค.ศ. 1973 โดยชาติในกลุ่มตะวันตกที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ระบบแลกเปลี่ยนอัตราคงที่ที่มีการนำเงินตราสกุลชั้นนำทุกสกุลไปผูกไว้กับดอลลาร์สหรัฐฯโดยให้ค่าของการแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นไปตามข้อตกลงผ่านทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)นี้ได้ใช้กันมาจวบจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1971 แต่ด้วยเหตุที่เงินตราสกุลดอลลาร์ของสหรัฐฯได้นำไปผูกไว้กับทองคำในอัตราคงที่ คือ 35 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพราะฉะนั้นเงินสกุลอื่นๆทั้งหมดในระบบนี้ก็จึงได้นำไปผูกไว้กับทองคำโดยให้สัมพันธ์กับเงินตราสกุลดอลลาร์ของสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1971 เมื่อสหรัฐอเมริกาไม่สามารถสนองตอบข้อเรียกร้องของต่างชาติที่จะให้เปลี่ยนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐของพวกเขาให้เป็นทองคำได้ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่นี้จึงเกิดการล่มสลาย ต่อมาก็ได้มีการนำเอาระบบการแลกเปลี่ยนแบบรวมค่าเสมอภาคที่ปรับได้มาใช้แทนระบบมาตราปริวรรตทองคำเป็นการชั่วคราวเป็นการขัดตาทัพไปก่อน แต่พอถึงปี ค.ศ. 1973 จึงได้มีการนำระบบอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นนี้มาใช้

ความ
สำคัญ อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นนี้ได้สร้างระบบค่าของเงินระหว่างประเทศที่มีเสถียรภาพขึ้นมานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 เป็นต้นมา เพราะว่าค่าของเงินตราต่างชาติต่างๆส่วนใหญ่แล้วจะถูกกำหนดด้วยพลังของตลาดอุปสงค์/อุปทานของเงินตรามิใช่โดยการบงการของรัฐบาล แต่เมื่อถึงตอนที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดเกิดขึ้นมานั้น ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นนี้ก็อาจจะได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ในทศวรรษปี 1980 รัฐบาลสหรัฐฯได้ลดค่าเงินสกุลดอลลาร์ลงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์โดยได้รับความร่วมมือจากชาติผู้ทำการค้าที่สำคัญ ทั้งนี้เพื่อช่วยแก้ไขการเสียเปรียบดุลการค้าของสหรัฐฯ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นนี้ได้ช่วยให้ประเทศต่างๆสามารถปรับปรุงดุลการ ชำระเงินของตนได้ โดยที่ระบบจะคอยเป็นดรรชนีชี้เตือนล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ ว่าค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นนั้นๆอ่อนตัวหรือแข็งตัวอย่างไรบ้าง ด้วยเหตุนี้อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นจึงมีแนวโน้มที่จะไปเป็นตัวบ่งชี้ถึงสภาวะทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปของแต่ละชาติอย่างน่าเชื่อถือได้ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นสามารถยืดหยัดอยู่ได้ในช่วงทศวรรษปี 1970 และทศวรรษปี 1980 อันเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูมากหลังจากที่ราคาน้ำมันโลกตกลงอย่างมาก ซึ่งก็เป็นช่วงที่มีการขยายตัวทางการค้าและสภาพคล่องระหว่างประเทศอยู่ แต่ก็ทำให้ภาวะเงินเฟ้อมีอัตราสูงมาก อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ระบบอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นนี้เกิดความอ่อนแอเพราะแรงกระทบจากการผันผวนของตลาด ซึ่งความผันผวนนี้บางครั้งก็เกิดจากการเก็งกำไรของนักเก็งกำไรที่มีอิทธิพลมากๆ เกิดจากสภาวะการว่างงานอย่างรุนแรง และเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ผกผันอื่นๆในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ อย่างไรก็ดี ระบบอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นนี้ก็สามารถยืดหยัดอยู่ได้ และก็มีแนวโน้มว่าจะสามารถยืดหยัดได้ต่อไปเรื่อยๆ เว้นเสียแต่ว่าจะเกิดสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจทั่วโลก หรือเกิดช่วงของลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอย่างที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษปี 1930

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม