วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

Trade Policy Organization : General Agreement on Tariffs and Trade (GATT)

Trade Policy Organization : General Agreement on Tariffs and Trade (GATT)

General Agreement on Tariffs and Trade (GATT) : ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (แกตต์)

ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (แกตต์) หรือ General Agreement on Tariffs and Trade (GATT) คือ องค์การระหว่างประเทศที่ให้การส่งเสริมการค้าในหมู่สมาชิก โดยทำหน้าที่เป็นที่ประชุมเพื่อเจรจาทำข้อตกลงลดภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าอื่นๆ แกตต์เริ่มประชุมกันครั้งแรกที่เจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี ค.ศ. 1947 โดยทำหน้าที่เป็นข้อตกลงชั่วคราวจนกว่าจะได้มีการจัดตั้งองค์การการค้าระหว่างประเทศ(ไอทีโอ)ให้เป็นทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติขึ้นมาได้สำเร็จ โดยให้ทำหน้าที่จัดระเบียบการค้าของโลก เมื่อสหรัฐอเมริกาปฏิเสธการจัดตั้งไอทีโอ แกตต์ซึ่งไม่เหมือนไอทีโอก็จึงเป็นข้อตกลงในทางบริหารไม่ใช่สนธิสัญญาดังนั้นจึงไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาสหรัฐฯ แกตต์ได้รับการพัฒนาให้เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อส่งเสริมการค้าให้มีเสรีมากยิ่งขึ้น สมาชิกของแกตต์ซึ่งแต่เดิมมี 23 ชาติก็ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นกว่า 100 ชาติ ซึ่งทั้งร้อยชาติเหล่านี้ก็ได้ดำเนินการค้าที่เมื่อรวมกันแล้วเป็นจำนวนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของการค้าของโลกเลยทีเดียว ในปี ค.ศ. 1971 แกตต์ได้ให้ความเห็นชอบในข้อตกลงระบบทั่วไปของการให้สิทธิพิเศษทางการค้า(จีเอสพี) ที่ให้อำนาจประเทศพัฒนาแล้วให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากรแก่ประเทศกำลังพัฒนา ในปี ค.ศ. 1976 สหรัฐฯได้เข้าร่วมกับหลายประเทศในยุโรปและเอเชียให้การยอมรับแนวทางของจีเอสพีนี้ จึงได้ส่งผลให้มีการลดอัตราภาษีศุลกากรหลายร้อยรายการสำหรับสินค้านำเข้าของประเทศกำลังพัฒนา หน้าที่ปัจจุบันของแกตต์มีดังนี้ คือ (1) ทำการเจรจาลดภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าอื่นๆ (2) พัฒนานโยบายการค้าใหม่ๆ (3) แก้ไขข้อพิพาททางการค้า (4) กำหนดกฎเกณฑ์ที่นำมาใช้ควบคุมนโยบายการค้าของชาติสมาชิก สมาชิกของแกตต์จะเจรจากันทั้งในระดับทวิภาคีและระดับพหุภาคีในที่ประชุมที่จัดขึ้นตามห้วงเวลาต่างๆ ข้อกำหนดว่าด้วยชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่งที่มีการสอดแทรกไว้ในข้อตกลงทางการค้าทุกฉบับนั้น ก็ได้นำมาใส่ไว้ในวาระการประชุมสมัยต่างๆของแกตต์ด้วย จึงช่วยทำให้เกิดเป็นหลักประกันว่าจะมีการนำหลักการผ่อนปรนทางการค้านี้ไปใช้กับสมาชิกทุกชาติ ในกฎเกณฑ์ที่ปราศจากอคติของแกตต์ มีข้อห้ามมิให้สมาชิกใช้ข้อจำกัดทางปริมาณ ระบบโควตา ระบบการให้เงินอุดหนุนสินค้าขาออก ระบบภาษีพิเศษ หรือเครื่องมืออื่นใดมาใช้ขัดขวางสิทธิพิเศษที่ได้ให้ไว้แล้วนั้น แกตต์ปฏิบัติงานอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารของแกตต์ คือ คณะที่ปรึกษาสิบแปดคน(ซีจี-18) อันประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 18 คน โดยมาจากประเทศพัฒนาแล้วและจากประเทศกำลังพัฒนาฝ่ายละ 9 คนเท่ากัน จากการที่มีสมาชิกในคณะบริหารแกตต์จำนวน 9 คนเท่ากันในสองกลุ่มนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นความพยายามของข้างฝ่ายชาติอุตสาหกรรมที่ต้องการจะพ้นข้อครหาจากฝ่ายกลุ่มโลกที่สามที่กล่าวหาว่าแกตต์ทำงานเสมือนหนึ่งเป็นสโมสรของคนรวยสำนักงานใหญ่ของแกตต์ตั้งอยู่ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์


ความสำคัญ สมาชิกของแกตต์ในช่วงหลายปีนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947 เป็นต้นมา ได้ประสบความสำเร็จในการเจรจาลดอุปสรรคทางการค้าได้อย่างมากมาย การทำงานของแกตต์แม้จะเชื่องช้าไปบ้างแต่ก็คืบหน้าไปอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จที่สามารถบรรลุข้อตกลงรอบโตเกียวในปี ค.ศ. 1979 ได้ซึ่งข้อตกลงนี้สามารถลดภาษีศุลกากรในแบบถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันได้โดยเฉลี่ยได้ถึง 33 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ข้างฝ่ายประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ได้บอยคอตการลงนามข้อตกลงครั้งนี้โดยอ้างเหตุผลว่าไม่ทำตามความประสงค์ของประเทศกำลังพัฒนา เช่น ความประสงค์ที่ให้ใช้อัตราภาษีศุลกากรแบบเสรีกับโภคภัณฑ์ขั้นปฐมและกับสินค้ากึ่งสำเร็จรูปต่างๆ นอกจากนั้นแล้ว แกตต์ก็ยังได้ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสมาชิก และได้ช่วยไม่ให้เกิดสงครามทางการค้าหลายต่อหลายครั้ง ได้ช่วยให้มีการยอมรับกฎเกณฑ์ต่างๆที่จะนำมาใช้กับสมาชิกในความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน และช่วยตรวจสอบเมื่ออุปสรรคทางการค้าด้านอื่นๆที่ไม่ใช่ด้านภาษีศุลกากรเกิดขึ้น วัตถุประสงค์ขั้นพื้นฐานของแกตต์ที่จะสร้างระบบการค้าเสรีได้อ่อนล้าลงไปเพราะสมาชิกของแกตต์มีจำนวนเพียงหนึ่งในสามของชาติที่ทำการค้าทั่วโลกซึ่งมีจำนวนรวมกันถึง 160 ชาติ สำหรับฝ่ายประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศก็ยังคงถือว่าแกตต์เป็นสโมสรของคนรวยอยู่ต่อไป จึงไม่อยากจะเข้ามาเป็นสมาชิก ส่วนรัฐที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์นั้นมีหลายรัฐเข้ามาเป็นสมาชิกอย่างเต็มที่ แต่อีกหลายรัฐมีความสัมพันธ์ที่หลวมๆไม่แน่นแฟ้นนัก แกตต์ประสบกับปัญหาที่แก้ไขยังไม่ตก 2 อย่าง คือ (1) ปัญหาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างรัฐที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์กับรัฐที่ไม่ได้ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ และ (2) ปัญหาข้อเรียกร้องของประเทศกำลังพัฒนาที่ให้มีการจัดตั้งระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่และให้ระบบการค้าที่ยุติธรรมมากยิ่งขึ้นเป็นส่วนสำคัญของระเบียบที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่นี้ด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม