วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Development : Third World Debt Crisis

การพัฒนา: วิกฤติการณ์หนี้สินของโลกที่สาม

สภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอันเป็นผลมาจากการมีหนี้สินมากของกลุ่มประเทศในโลกที่สามที่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่มีอยู่กับธนาคารเอกชนของประเทศตะวันตกแล้วไม่สามารถผ่อนชำระหนี้คืนได้ วิกฤติการณ์หนี้สินระดับโลกนี้เกิดขึ้นเพราะสาเหตุต่อไปนี้ คือ (1) เพราะสถาบันเงินทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาลปล่อยเงินกู้ออกไปมากเกินไป (2)เพราะภาวะหนี้สินพอกพูนเป็นหางหมูในหมู่ประเทศโลกที่สามและรัฐที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์หลายประเทศ และ(3)เพราะประเทศที่เป็นลูกหนี้หลายประเทศไม่สามารถผ่อนชำระหนี้คืนให้แก่องค์การให้บริการเงินกู้เหล่านี้อย่างสม่ำเสมอได้ เมื่อลูกหนี้ที่ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้สินเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นๆใน ช่วงปลายทศวรรษปี 1980 ก็ได้ก่อให้เกิดสภาวะวิกฤติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดการเงินของโลก ในปี ค.ศ. 1988 ขนาดของหนี้พอกพูนโตขึ้นๆมากจากผลของการปรับขึ้นดอกเบี้ยและการปล่อยเงินกู้ ก้อนใหม่ ซึ่งทำให้มียอดเงินกู้จำนวนทั้งสิ้นถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ วิกฤติการณ์หนี้สินส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากผลของวิกฤติการณ์น้ำมันโลก จากภาวะเงินเฟ้อในประเทศกลุ่มโลกที่สามหลายประเทศ และจากความต้องการของประเทศเหล่านี้ที่อยากจะได้ทุนไปพัฒนาและสร้างความทันสมัยให้แก่เศรษฐกิจของตน ประเทศลูกหนี้ที่สำคัญ ได้แก่ อาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล ชิลี โคลัมเบีย เอกวาดอร์ ไอเวอร์รีโคสต์ เม็กซิโก โมร็อกโก ไนจีเรีย เปรู และฟิลิปปินส์ ในจำนวนนี้บราซิลและเม็กซิโกเป็นหนี้จำนวนมากที่สุด


ความสำคัญ การมีหนี้สินมากมายอยู่ทั่วโลกนี้ได้ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ร้ายแรงขึ้นทั้ง ในระดับชาติและในระดับนานาชาติ อันมีผลกระทบตั้งต่อเจ้าหนี้เองและต่อลูกหนี้เสมอหน้ากัน การไม่ยอมชำระหนี้และการขมขู่ว่าจะไม่ชำระหนี้นี้ปกติจะส่งผลให้มีการปรับ แต่งตารางการชำระหนี้ของชาติที่ไม่ยอมชำระหนี้นั้น ตลอดจนจะมีผลต่อการปล่อยเงินกู้ก้อนใหม่จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอ เอ็มเอฟ) และเมื่อไม่นานมานนี้ก็ได้ส่งผลกระทบต่อธนาคารโลกที่ได้หาทางจะให้ประเทศ ลูกหนี้กลับมาชำระหนี้ต่อไป มีหลักปฏิบัติอยู่ว่าเมื่อจะปล่อยเงินกู้ให้นั้น ประเทศที่จะรับเงินกู้จะต้องตกลงที่จะทำการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจภายในชาติของ ตน ซึ่งทั้งนี้ก็รวมทั้งจะต้องลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐบาลและนำมาตรการประหยัดมา ใช้สำหรับประชาชนทั้งประเทศด้วย เงื่อนไขเช่นนี้เมื่อนำไปใช้กับประเทศที่มีประชากรล้นประเทศและมีภาวะยากจน กระจายอยู่ทั่วประเทศแล้ว ก็จะทำให้เกิดการประท้วง เกิดการจลาจล และเกิดการกบฏ ในช่วงทศวรรษปี 1980 นอกจากจะมีเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) แล้วก็ยังมีเงินกู้ที่ปล่อยจากธนาคารโลก(ไอบีอาร์ดี) ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์ให้กู้เพื่อขยายเศรษฐกิจของประเทศลูกหนี้ ให้สามารถชำระหนี้ที่มีเป็นจำนวนมหาศาลในอนาคตได้ ประเทศเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤติการณ์หนี้สินโลกครั้ง นี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และแคนาดา ซึ่งมีชื่อเรียกว่า กลุ่มจี-6 ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาแนวทางและนโยบายใหม่ที่จะมิให้เกิดการชักดาบไม่ยอมชำระหนี้ ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไปก็จะเกิดผลร้ายแรงตามมา คือ จะทำให้เกิดสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็จะส่งผลต่อไปให้ประเทศลูกหนี้หยุดการชำระหนี้โดยสิ้นเชิง และก็จะทำให้ธนาคารของชาติตะวันตกเกิดการล้มละลาย กับทั้งจะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกตามมาในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม