วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Development Strategy : Dependency Theory

ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา : ทฤษฎีสภาวะต้องพึ่งพิง

คำอธิบายในเชิงเศรษฐกิจและในเชิงการเมืองเกี่ยวกับกระบวนการในทางประวัติศาสตร์และในปัจจุบันที่บ่งบอกถึงการเกิดการด้อยพัฒนาและการขัดแย้งทางการเมืองในกลุ่มประเทศโลกที่สาม ทฤษฎีสภาวะต้องพึ่งพิงนี้ให้ความสนใจในสัมพันธภาพด้านจักรวรรดินิยม/ลัทธิล่าอาณานิคมระหว่างประเทศอุตสาหกรรมของยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา กับพื้นที่ต่างๆในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกาที่ตกอยู่ในความครอบงำของประเทศอุตสาหกรรมเหล่านั้น ทฤษฎีสภาวะต้องพึ่งพิงนี้เกิดจากแนวความคิดของนักปราชญ์ชาวละตินอเมริกาหลาย คน เช่น เฟอร์นานโด เฮนริก คาร์โดโซ, ธีโอโตนีโอ ดอส ซานโตส, และ รุย เอ็ม. มารินี ซึ่งท่านทั้งหลายเหล่านี้ได้พยายามอธิบายถึงสัมพันธภาพการพึ่งพิงในปัจจุบัน ระหว่างรัฐในละตินอเมริกากับรัฐทุนนิยมที่พัฒนาอุตสาหกรรมแล้วในตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้แล้วก็ยังมีปราชญ์คนอื่นๆ เช่น ซามีร์ อามิน, คลิฟ โธมัส, และวอลเตอร์ ร้อดนี ได้นำทฤษฎีสภาวะต้องพึ่งพิงนี้ไปใช้อธิบายพื้นที่อื่นๆของโลกด้วย นักปราชญ์เหล่านี้มีความเห็นว่า ระบบการค้าของโลกในปัจจุบันมีแนวโน้มไปในทางที่จะทำให้รัฐที่กำลังพัฒนาตกอยู่ในสภาวะถูกจองจำทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดสัมพันธภาพแบบจักวรรดินิยมแบบใหม่และการล่าอาณานิคมแบบใหม่ขึ้นมาระหว่างประเทศที่มีฐานะร่ำรวยกับประเทศที่มีฐานะยากจน

ความสำคัญ นักปราชญ์และบุคคลอื่นๆต่างใช้ทฤษฎีสภาวะต้องพึ่งพิงนี้อธิบายถึงภาวะชะงักงันในการพัฒนาเศรษฐกิจในหมู่ประเทศกลุ่มโลกที่สาม ในทัศนะของพวกนักทฤษฎีสภาวะการพึ่งพิงเห็นว่า ชีวิตทางเศรษฐกิจของประเทศด้อยพัฒนาถูกครอบงำโดยการเอารัดเอาเปรียบของรัฐนายทุนที่มีอำนาจจากภายนอกกลุ่มโลกที่สาม ทฤษฎีสภาวะต้องพึ่งพิงนี้จะถูกผิดอย่างไรไม่มีใครทราบได้ แต่ที่แน่ๆก็คือ เป็นทฤษฎีที่ได้รับการสนับสนุนจากนักปราชญ์และผู้นำประเทศในโลกที่สาม ซึ่งเห็นว่าเป็นเหตุผลสำคัญทำให้หลายรัฐในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกาไม่สามารถสร้างความคืบหน้าในการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้แล้วพวกนักทฤษฎีสภาวะต้องพึ่งพิงก็ยังมีความเห็นด้วยว่า บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ทั้งหลายต่างก็ได้เข้าควบคุมเศรษฐกิจของกลุ่มโลกที่สาม และได้ให้การสนับสนุนแก่บรรดาผู้นำทางการเมืองของประเทศเหล่านี้อีกด้วย ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมในหลายรัฐที่กำลังพัฒนาเพราะผลของการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ แต่ก็มีการจำกัดอยู่เฉพาะในตัวเมือง ส่วนพื้นที่ในชนบทของประเทศต่างๆเหล่านี้ยังตกอยู่ในสภาพยากจนค่นแค้นอยู่ต่อไป ผู้ให้การสนับสนุนทฤษฎีสภาวะต้องพึ่งพิงหลายคนมีความเห็นว่า สภาวะแห่งลัทธิจักรวรรดินิยมและแห่งลัทธิล่าอาณานิคมเหล่านี้จะต้องถูกทำลายไปเสีย แล้วนำเอาระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างใหม่มาใช้แทน ก็จะยุติสถานภาพการที่ต้องพึ่งพิงของรัฐต่างๆในกลุ่มโลกที่สามนี้ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม