วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Development Strategy : New International Economic Order(NIEO)


ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา : ระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ (เอ็นไออีโอ)

การรณรงค์ครั้งสำคัญในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติและในการประชุมว่าด้วยการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(อังค์ถัด) โดยประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย(แอนดีจี) เพื่อขจัดระบบเศรษฐกิจโลกที่มีอยู่ในปัจจุบันออกไปแล้วนำเอาระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เอื้อต่อผลประโยชน์แก่ประเทศยากจนมาใช้แทน ระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่นี้ได้มีการประกาศเป็นครั้งแรกในสมัยประชุมพิเศษครั้งที่ 16 ของสมัชชาใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 1974 ซึ่งในครั้งนั้นสมัชชาใหญ่ได้ยอมรับปฏิญญาว่าด้วยการจัดตั้งระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ ต่อมาในปีเดียวกันนั้นสมัชชาใหญ่ได้สานต่อปฏิญญาดังกล่าวด้วยการให้ความเห็นชอบในกฎบัตรว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ทางเศรษฐกิจของรัฐ ซึ่งได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับหลักการและแนวปฏิบัติที่จำเป็นนำมาใช้ในการดำเนินระเบียบระหว่างประเทศใหม่ เรื่องการจัดตั้งระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่นี้ ซึ่งเป็นเกมการเมืองของกลุ่ม 77(จี-77) (กลุ่มแกนนำประกอบด้วยประเทศด้อยพัฒนาจำนวน 120 ชาติที่ประชุมกันก่อนจะถึงสมัยประชุมเป็นทางการของสมัชชาใหญ่เพื่อตัดสินใจว่าจะยึดแนวทางปฏิบัติใด) ได้ก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างประเทศอุตสาหกรรมที่มีฐานะร่ำรวยของโลกที่หนึ่ง กับกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่มีฐานะยากจนแต่มีจำนวนมากในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา

ความสำคัญ มูลเหตุจูงใจที่จะให้มีการจัดตั้งระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ขึ้นมานี้ ว่าที่จริงแล้ว ก็คือ ความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาที่จะให้มีการก่อตั้งระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศเสียใหม่ กับให้มีการดำเนินการจัดสรรความมั่งคั่งของโลกเสียใหม่ด้วย จากมุมมองของกลุ่มประเทศโลกที่สามเห็นว่า เศรษฐกิจระหว่างประเทศในปัจจุบันไม่เอื้อประโยชน์ต่อประเทศที่กำลังพัฒนาและมีฐานะยากจน ดังนั้นประเทศเหล่านี้จึงเกิดความเก็บกดและมุมานะที่จะพัฒนาและสร้างความทันสมัยให้แก่ตนเอง ประเทศด้อยพัฒนาเหล่านี้มีความเชื่อว่า ที่ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ขั้นปฐมและผลิตภัณฑ์อื่นๆของตนมีราคาตกต่ำในตลาดการค้าของโลกมาเป็นเวลาหลายปีนั้น ก็เพราะผลของลัทธิล่าอาณานิคมและลัทธิล่า อาณานิคมแบบใหม่ ระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่นี้เป็นเกมทางการเมืองอย่างหนึ่งของกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่มีวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเกมการเมืองที่ประสบความล้มเหลว ก่อนหน้านี้ประเทศด้อยพัฒนาก็ได้เคยพยายามแสวงหาเงินทุนเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนามาแล้ว คือ (1) ได้ยื่นเสนอให้มีกองทุนเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติพิเศษ(เอสยูเอ็นเอฟอีดี) (2) กองทุนการพัฒนาเงินทุนแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นซีดีเอฟ) (3) การประชุมว่าด้วยการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(อังค์ถัด) (4) การก่อตั้งสมาคมพัฒนาระหว่างประเทศ(ไอดีเอ) และ(5) ความพยายามที่จะใช้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลกเพื่อวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนา ในความพยายามที่จะหาเงินทุนมาใช้พัฒนาประเทศนั้น ประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายมีความต้องการดังนี้ (1)ต้องการให้ประเทศร่ำรวยเพิ่มความช่วยเหลือต่างประเทศแก่ชาติยากจนมากยิ่งขึ้น (2) ต้องการให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศร่ำรวยสู่ประเทศยากจนให้มากยิ่งขึ้น (3) ต้องการให้ประเทศยากจนมีส่วนในการมีอำนาจตกลงใจในสถาบันทางเศรษฐกิจในระดับโลกมากยิ่งขึ้น(เช่น ในธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ) (4) ต้องการให้ราคาวัตถุดิบของประเทศยากจนมีราคาสูงขึ้นและราคามีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น และ (5) ต้องการให้ประเทศยากจนมีโอกาสส่งสินค้าเข้าไปขายในตลาดของประเทศพัฒนาและร่ำรวยแล้วมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าเป็นความพยายามของชาติยากจนที่ต้องการจะขายแนวความคิดในการจัดตั้งระเบียบระหว่างประเทศใหม่นี้ให้แก่ประเทศร่ำรวยในรูปแบบที่เหมือนกับการประกาศสงครามระหว่างกัน ข้างฝ่ายประเทศที่พัฒนาแล้วโดยการนำของสหรัฐอเมริกาก็ได้ใช้วิธีปฏิเสธข้อเสนอนั้นบ้าง ให้ข้อเสนอนั้นคาราคาซังอยู่อย่างนั้นบ้าง ที่ต้องกระทำอย่างนี้ก็เพราะว่า ระเบียบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเอื้อประโยชน์ต่อประเทศอุตสาหกรรมนั่นเอง ผลพวงที่เกิดจากความพยายามในระหว่างทศวรรษปี 1970 ถึงทศวรรษปี 1980 ที่จะให้มีการจัดตั้งระเบียบใหม่ในเศรษฐกิจของโลกนี้ ก็คือ ได้มีการยอมรับให้สหประชาชาติมีบทบาทสำคัญในการจัดหาที่ประชุมส่วนกลางไว้ สำหรับการอภิปรายและถกแถลงเรื่องราวที่เป็นประเด็นทางเศรษฐกิจต่างๆ ประเทศด้อยพัฒนาบางประเทศซึ่งเกิดความเก็บกดจากความพยายามแล้วไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของโลก ก็ได้เริ่มใช้วิธีให้มีการปรับปรุงเศรษฐกิจโลกโดยใช้แบบอย่างของ องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปิโตรเลียม(โอเปก) และนโยบายรวมตัวผูกขาดทางธุรกิจขององค์การนี้ โดยเห็นว่าเป็นแนวทางเหมาะสมที่จะใช้ต้านทานพลังความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศโลกที่หนึ่งได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม