วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Development Strategy : Foreign Aid

ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา : ความช่วยเหลือต่างประเทศ

ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือการทหารที่รัฐบาลหนึ่งหรือองค์การระหว่างประเทศหนึ่งจัดหาให้แก่อีกประเทศหนึ่ง ความช่วยเหลือต่างประเทศจะเสนอให้ในแบบทวิภาคี โดยองค์การในระดับภูมิภาค หรือโดยองค์การในระดับโลกภายใต้ระบบสหประชาชาติ ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแยกประเภทได้ดังนี้ (1)การให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค (2) การให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแบบให้เปล่า (3) การให้เงินกู้เพื่อการพัฒนา (4) การส่งอาหารที่ล้นสต๊อกไปให้ (5) การให้ค้ำประกันสำหรับการลงทุนของภาคเอกชน และ(6) การให้เครดิตทางการค้า ส่วนการให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหาร จะเกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้ (1) การส่งมอบครุภัณฑ์ทางทหาร (2) การส่งคณะที่ปรึกษาไปประจำอยู่ (3) การให้การสนับสนุนด้านกลาโหม(หมายถึง ให้เงินสนับสนุนโครงการพลเรือนเท่ากับจำนวนเงินที่ประเทศผู้รับความช่วยเหลือใช้จ่ายไปในด้านการป้องกันประเทศตน) และ(4) การให้ความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายแก่กองกำลังทหารมิตรประเทศ สำหรับวัตถุประสงค์ของความช่วยเหลือต่างประเทศมีดังนี้ คือ (1) ให้การสนับสนุนพันธมิตร (2) ช่วยบูรณะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม (3) ให้การส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (4) ต้องการได้การสนับสนุนทางอุดมการณ์ (5) ต้องการได้วัสดุทางยุทธศาสตร์ และ (6) ต้องการช่วยเหลือให้รอดพ้นจากการล้มละลายทางเศรษฐกิจหรือจากภัยธรรมชาติ โครงการให้ความช่วยเหลือในแบบทวิภาคีทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านการทหาร ดำเนินการโดยรัฐต่างๆต่อไปนี้ คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต จีนคอมมิวนิสต์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย และอังกฤษ ส่วนโครงการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ได้แก่ โครงการที่ดำเนินการโดย พันธมิตรเพื่อความก้าวหน้า แผนโคลัมโบ กองทุนเพื่อพัฒนายุโรปของอีอีซี องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ธนาคารพัฒนาแอฟริกา ธนาคารพัฒนาเอเชีย และธนาคารพัฒนาระหว่างรัฐในทวีปอเมริกา สำหรับโครงการในระดับโลกภายใต้การอุปถัมภ์ของสหประชาชาติ ได้แก่ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ กลุ่มธนาคารโลก(ไอบีอาร์ดี ไอเอฟซี และไอดีเอ) ตลอดจนทบวงการชำนัญพิเศษอื่นๆ การประชุมการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(อังค์ถัด) และองค์กรอิสระพิเศษต่างๆ เช่น องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ และสถาบันเพื่อการฝึกอบรมและการวิจัยแห่งสหประชาชาติ

ความสำคัญ โครงการความช่วยเหลือต่างประเทศที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสันในครั้งแรก คือ โครงการที่สหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือแก่พันธมิตรในระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยมีมูลค่ากว่า 1 หมื่นสี่พันล้านดอลลาร์สหรัฐยังคงคาราคาซังกันอยู่ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองก็มีโครงการเลนด์-ลีสที่ดำเนินการโดยฝ่ายพันธมิตร เป็นการให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหารและด้านเศรษฐกิจแก่กันและกัน ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็ได้มีการพัฒนาโครงการความช่วยเหลือของสหรัฐฯหลายโครงการ เช่น แผนมาร์แชล มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการบูรณะยุโรปตะวันตก หลักนิยมทรูแมน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการทหารและทางเศรษฐกิจแก่รัฐที่ถูกคอมมิวนิสต์คุกคาม และแผนความมั่นคงร่วมกันที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการป้องกันขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในยุโรปตะวันตก สำหรับความช่วยเหลือที่ให้แก่ประเทศด้อยพัฒนาต่างๆนั้น เริ่มต้นด้วยโครงการพ้อยท์โฟว์ อันเป็นการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในปี ค.ศ. 1949 และโครงการนี้ได้ขยายให้ครอบคลุมไปถึงการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าและแบบเป็นเงินกู้ กับการช่วยเหลือทางด้านการทหารระหว่างทศวรรษปี 1950 ถึงทศวรรษปี 1960 ส่วนโครงการให้ความช่วยเหลือของสหภาพโซเวียตสำหรับประเทศด้อยพัฒนานั้น ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อกลางทศวรรษปี 1950 ในรูปแบบของการให้เครดิตเพื่อส่งเสริมการค้าแบบทวิภาคี ประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆในทางตะวันตกและทางตะวันออกตลอดจนญี่ปุ่น ก็ได้จัดตั้งโครงการความช่วยเหลือที่สำคัญแก่รัฐที่กำลังพัฒนาในทศวรรษปี 1960 ชาติต่างๆที่ให้ความช่วยเหลือจะดำเนินการผ่านทางช่องทางในแบบทวิภาคี ผ่านทางองค์การในระดับภูมิภาคและองค์การในระดับโลก แต่การตัดสินใจที่สำคัญๆเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและด้านการทหารส่วนใหญ่เป็นการกระทำโดยฝ่ายเดียวของรัฐผู้บริจาค ประเทศผู้บริจาคส่วนใหญ่จะนิยมให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพราะมีความเชื่อว่า ทุนที่จะนำมาใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมนั้นควรจะเอาจากแหล่งเงินทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ จากบริษัทข้ามชาติต่างๆ อย่างไรก็ดีประเทศผู้รับความช่วยเหลืออยากได้ความช่วยเหลือในรูปของเงินทุน ที่อาจออกมาในรูปการให้เปล่าหรือให้กู้ในระยะยาวโดยเสียดอกเบี้ยต่ำก็ได้ เพราะว่าต้องการจะควบคุมโครงการพัฒนาและอนาคตทางเศรษฐกิจของชาติด้วยตนเอง เงินที่นำมาใช้สนับสนุนโครงการพัฒนาทุนเป็นการเฉพาะของชาติตะวันตกนี้ ได้มาในรูปของเงินกู้ที่ออกให้กู้โดยกลุ่มธนาคารโลก หรือออกให้กู้โดยธนาคารพัฒนาแอฟริกา ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือธนาคารพัฒนาระหว่างรัฐในทวีปอเมริกา ประเทศที่ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบทวิภาคีนั้นจะตกลงใจให้ความช่วยเหลือโดยยึดหลักองค์ประกอบทางการเมืองและความมั่นคงเป็นสำคัญยิ่งกว่าจะได้คำนึงถึงความจำเป็นของประเทศผู้รับความช่วยเหลือ ดังมีตัวอย่างในทศวรรษปี 1980 ความช่วยเหลือของสหรัฐฯส่วนใหญ่จัดให้แก่ประเทศต่างๆเพียงไม่กี่ประเทศ เช่น อิสราเอล และอียิปต์ เป็นต้น ส่วนที่เหลือจึงค่อยเฉลี่ยให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่มีจำนวนมากกว่าร้อยประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม