วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Development Strategy : Colombo Plan

ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา : แผนโคลัมโบ

โครงการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหากลไกการปรึกษาหารือในแบบพหุภาคีและทวิภาคีในหมู่สมาชิก แผนโคลัมโบก่อตั้งขึ้นมาในที่ประชุมของหมู่รัฐเครือจักรภพอังกฤษที่กรุงโคลัมโบ ประเทศซีลอน(ศรีลังกาในปัจจุบัน) เมื่อปี ค.ศ. 1950 แผนโคลัมโบได้จัดทำแผนเริ่มแรกเป็นแผนระยะเวลา 5 ปี ใช้เงินทุน 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทุนจำนวนนี้ได้มาจากรัฐที่พัฒนาแล้วและรัฐที่กำลังพัฒนาในจำนวนที่เท่ากัน มีรัฐต่างๆเข้าร่วมในโครงการกว่า 25 รัฐ เช่น ประเทศในเครือจักรภพของอังกฤษ(ออสเตรเลีย, อังกฤษ, แคนาดา, ซีลอน,อินเดีย, มาเลเซีย, นิวซีแลนด์, ปากีสถาน และสิงคโปร์) ประเทศและดินแดนในอารักขาในเอเชียอื่นๆ(ภูฏาน, เกาะบอร์เนียวของอังกฤษ,พม่า,กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ลาว,เนปาล,ฟิลิปปินส์, เวียดนามใต้ และไทย) และสหรัฐอเมริกา ในการบริหารแผนโคลัมโบนั้นมีคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของรัฐที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด จะประชุมกันทุกปีเพื่อพิจารณาทบทวนโครงการเก่า วางแผนโครงการใหม่ และถกแถลงปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีคณะมนตรีเพื่อความร่วมมือทางเทคนิค ทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการ ณ สำนักงานใหญ่ของแผนโคลัมโบที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกาปัจจุบัน เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคระหว่างหมู่ชาติสมาชิก

ความสำคัญ ถึงแม้ว่าแผนโคลัมโบจะเริ่มต้นขึ้นมาด้วยการเป็นแค่โครงการของกลุ่มประเทศในเครือจักรภพของอังกฤษ แต่ก็ได้รวมเอาประเทศสหรัฐอเมริกามาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่ และมีประเทศต่างๆที่มิได้มีระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่ในเอเชีย เป็นประเทศรับความช่วยเหลือ แต่ด้วยเหตุที่การบริหารโครงการให้ความช่วยเหลือทุกโครงการมีลักษณะเป็น แบบทวิภาคี เพราะฉะนั้นรัฐผู้บริจาคแต่ละรัฐจึงได้เข้าไปควบคุมขนาดและลักษณะของเงินบริจาคของตนอย่างเต็มที่ แต่กระนั้นก็ดีก็ยังมีคณะกรรมการที่ปรึกษาทำหน้าที่เป็นที่ประชุมซึ่งประเทศกำลังพัฒนาสามารถเสนอความต้องการโครงการที่ใหญ่ขึ้นหรือที่มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้นได้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 เป็นต้นมา แผนโคลัมโบได้ให้ความช่วยเหลือทั้งในรูปของเงินกู้และเงินให้เปล่ามูลค่ากว่า 2 หมื่นห้าพันล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ชาติต่างๆในเอเชีย เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนา และมีบุคลากรหลายพันคนได้รับการฝึกอบรมทางด้านเทคนิค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม