วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Imperial Preference: สิทธิพิเศษในเครือจักรภพอังกฤษ

Trade Policy Organization : Imperial Preference

 Imperial Preference: สิทธิพิเศษในเครือจักรภพอังกฤษ

สิทธิพิเศษในเครือจักรภพอังกฤษ (Imperial Preference) คือ  ระบบที่อังกฤษและประเทศในเครือจักรภพได้ให้สิทธิพิเศษทางการค้าในแบบถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน สิทธิพิเศษในเครือจักรภพอังกฤษก่อกำเนิดขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1919 อันเป็นปีที่ประเทศอังกฤษยังไม่มีภาษีศุลกากรโดยรวม โดยสิทธิพิเศษนี้ได้กำหนดเป็นข้อตกลงให้สมาชิกของเครือจักรภพมอบสิทธิพิเศษทางการค้าให้แก่ประเทศอังกฤษเพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้รับการคุ้มกันจากกองเรือรบของอังกฤษ ระบบให้สิทธิพิเศษนี้ได้ถูกขยายออกไปในปี ค.ศ. 1932 อันเป็นปีที่อังกฤษมีระบบภาษีศุลกากรรวมขึ้นมา และในข้อตกลงออตตาวาก็ได้ให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศในเครือ(โดมิเนียน)สามารถขายโภคภัณฑ์ขั้นปฐมของตนในตลาดอังกฤษได้ แต่ทั้งนี้ต้องคงสิทธิพิเศษให้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปของอังกฤษยังเข้าไปขายในตลาดของพวกเขาได้เป็นการแลกเปลี่ยนกัน แต่เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมที่ได้จัดตั้งขึ้นมาใหม่ในประเทศในเครือโดมิเนียน ประเทศเหล่านี้ก็ได้ขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้าสำเร็จรูปที่เข้าไปขายทุกประเภท แต่อัตราที่ใช้กับสินค้าเข้าของอังกฤษก็ยังจัดเก็บในอัตราต่ำกว่าเพื่อนอยู่ดี แม้ว่าโดยรวมจะได้ดำเนินนโยบายปกป้องอยู่ต่อไปก็ตาม


ความสำคัญ  ระบบการให้สิทธิพิเศษในเครือจักรภพอังกฤษนี้ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยในการดึงดูดชาติอื่นให้เข้ามาเป็นสมาชิก และในการสร้างเอกภาพให้แก่ชาติเครือจักรภพ มีรัฐที่ได้เอกราชใหม่หลายรัฐ เช่น ไนจีเรีย อินเดีย กายอานา ไนจีเรีย ฯลฯ สนใจเข้ามาร่วมในเครือจักรภพ ทั้งนี้เพื่อคงตลาดขนาดใหญ่ใหญ่สำหรับสินค้าออกของตนในหมู่เกาะอังกฤษเอาไว้ อย่างไรก็ดี สิทธิพิเศษทางการค้าในเครือจักรภพอังกฤษนี้ก็เป็นตัวขวางกั้นมิให้อังกฤษเข้าเป็นสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป(อีอีซี) ทั้งนี้เพราะฝรั่งเศสได้เรียกร้องว่าอังกฤษจะต้องยกเลิกระบบการให้สิทธิพิเศษนี้เสียก่อนจึงจะเป็นสมาชิกของอีอีซีได้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของเครือจักรภพ เมื่ออังกฤษได้เข้าเป็นสมาชิกของประชาคมยุโรปในปี ค.ศ. 1973 แล้ว ประชาคมยุโรปก็ได้บรรลุข้อตกลงทางการค้าเป็นพิเศษกับประเทศในเครือจักรภพหลายประเทศ

Trade Policy Organization : Lome Convention

Trade Policy Organization : Lome Convention

Lome Convention :อนุสัญญาโลเม

อนุสัญญาโลเม (Lome Convention) คือ สนธิสัญญาทางการค้าพิเศษ ที่บรรลุข้อตกลงกันที่นครโลเมประเทศโตโกเมื่อปี ค.ศ. 1975 ระหว่างประชาคมเศรษฐกิจยุโรป(อีอีซี) กับประเทศกำลังพัฒนา 56 ชาติในแอฟริกา เอเชียและแปซิฟิก และคาริบเบียน อนุสัญญาโลเมนี้นำมาใช้แทนอนุสัญญาเยาอุนเดปี ค.ศ. 1963 และปี ค.ศ. 1969 ที่ได้ลงนามโดยประชาคมเศรษฐกิจยุโรปกับประเทศในแถบแอฟริกาจำนวน 18 ประเทศ วัตถุประสงค์สำคัญของอนุสัญญาเยาอุนเดและอนุสัญญาโลเม ก็คือ เพื่อให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศผู้ลงนามจากกลุ่มโลกที่สามนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971 เป็นต้นมา จากข้อตกลงให้สิทธิพิเศษทางการค้าเหล่านี้ก็ได้มีการดำเนินการให้สอดคล้องกับระบบการให้สิทธิพิเศษโดยทั่วไป(จีเอสพี) ที่จัดตั้งขึ้นมาโดยข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า(แกตต์) นอกจากนั้นแล้ว ข้อตกลงให้สิทธิพิเศษเหล่านี้ก็ยังได้วางข้อกำหนดว่าด้วยระบบการสร้างเถียรภาพของรัษฎากรขาออก(เอสทีเอบีอีเอ็กซ์)ซึ่งรวมถึงการให้การสนับสนุนทางด้านราคาแก่วัตถุดิบที่ระบุไว้ในรายการนั้นด้วย

ความสำคัญ  อนุสัญญาโลเมได้พิสูจน์ตัวเองว่าประสบความสำเร็จ สามารถทำให้ประเทศของกลุ่มโลกที่สามได้เข้ามาเป็นสมาชิกกว่า 60 ประเทศในปัจจุบัน การเข้ามาเป็นสมาชิกของอนุสัญญาโลเมได้อำนวยสิทธิประโยชน์แก่ภาคีทุกชาติ แต่จะอำนวยสิทธิประโยชน์มากเป็นพิเศษแก่สมาชิกที่เป็นรัฐกำลังพัฒนา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นอาณานิคมของประเทศต่างๆในประชาคมยุโรป คุณค่าของข้อตกลงทางการค้าในอนุสัญญาโลเมนี้สอดสัมพันธ์ไปกับความต้องการของประเทศในกลุ่มโลกที่สามพอดี คือ ประเทศเหล่านี้ต่างก็มีความต้องการขยายการค้าของตนเพื่อให้ได้เงินตราสกุลแข็งๆที่จำเป็นสำหรับใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนา

วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Trade Policy Organization : Organization of Petroleum Exporting Countries(OPEC)

Trade Policy Organization : Organization of Petroleum Exporting Countries(OPEC)


Organization of Petroleum Exporting Countries(OPEC)
:องค์การประเทศผู้ส่งออกปิโตรเลียม(โอเปก)

องค์การประเทศผู้ส่งออกปิโตรเลียม(โอเปก) (Organization of Petroleum Exporting Countries(OPEC)  คือ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน 13 ประเทศที่ได้จัดตั้งระบบการรวมกลุ่มเพื่อผูกขาดทางธุรกิจในระดับรัฐบาล เพื่อควบคุมการผลิตและการตกลงราคาน้ำมันในตลาดโลก สมาชิกของโอเปกประกอบด้วย 7 รัฐอาหรับในตะวันออกกลาง(แอลจีเรีย, อิรัก, คูเวต, ลิเบีย, กาตา, ซาอุดีอาระเบีย, และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) 2 รัฐในทวีปแอฟริกา(กาบอง และ ไนจีเรีย) 2 รัฐในเอเชีย(อินโดนีเซีย และอิหร่าน) และ 2 รัฐในละตินอเมริกา(เอกวาดอร์ และเวเนซุเอลา) โอเปกก่อตั้งขึ้นมาโดยสนธิสัญญาเมื่อปี ค.ศ. 1961 แต่ข้อตกลงจัดตั้งระบบรวมกลุ่มเพื่อผูกขาดทางธุรกิจของโอเปกเพิ่งจะมีผลบังคับใช้ในช่วงหลังสงครามตะวันออกกลางเมื่อปี ค.ศ. 1973 องค์การประเทศผู้ส่งออกปิโตเลียมอาหรับ(โอเอพีอีซี) ซึ่งเป็นองค์การทางการเมืองมากกว่าองค์การโอเปก ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาที่กรุงเบรุตประเทศเลบานอนเมื่อปี ค.ศ. 1968 โดยประเทศซาอุดีอาระเบีย คูเวต และลิเบีย ประเทศอาหรับอื่นๆที่เข้ามาร่วมองค์การผู้ส่งออกปิโตรเลียมอาหรับ ได้แก่ อิรัก อียิปต์ ซีเรีย กาตา ดูไบ บาห์เรน สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแอลจีเรีย องค์การโอเอพีซีอีได้วางแผนทำการคว่ำบาตรน้ำมันในระหว่างเกิดสงครามอาหรับอิสราเอลเมื่อปี ค.ศ. 1973 หลังสงครามยุติความต้องการน้ำมันในประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกและประเทศในกลุ่มโลกที่สามมีเพิ่มขึ้นมาก จึงได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงมาก เป็นการผ่องถ่ายทรัพยากรเงินจากประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกและประเทศในกลุ่มโลกที่สามไปยังประเทศสมาชิกของโอเปก

ความสำคัญ ในระหว่างปี ค.ศ. 1973 ถึง 1975 กลไกการกำหนดราคาของโอเปกได้ปั่นราคาน้ำมันโลกพุ่งขึ้นสูงถึง 4 เท่า จากการที่น้ำมันพุ่งขึ้นมามีผลดังนี้ คือ (1) ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในประเทศผู้นำเข้าน้ำมันหลายต่อหลายรอบ (2) ทำให้ผลิตภาพตกต่ำ (3) ทำให้โลกเผชิญกับภัยคุกคามจากภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ (4) ทำให้คนตกงานเพิ่มมากขึ้น (5) ทำให้มีความพยายามที่จะพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนอื่นที่จะมาใช้ทดแทนน้ำมัน การขึ้นราคาน้ำมันส่งผลกระทบในทางลบต่อกระแสการเงิน เป็นการสร้างปัญหาดุลการชำระเงินให้แก่ประเทศต่างๆ รวมทั้งแก่สหรัฐอเมริกาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่มโลกที่สามได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นมากนี้ ทำให้หลายประเทศต้องเป็นหนี้เป็นสินรุงรังและจะต้องตัดโครงการสร้างความทันสมัยของตนออกไป สหรัฐอเมริกาและประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆต่างหาหนทางตอบโต้การรวมกลุ่มกำหนดราคาของโอเปกนี้ โดยการสร้างองค์การประเทศผู้นำเข้าน้ำมันขึ้นมาเพื่อพัฒนาแนวทางนโยบายร่วมกัน และโดยใช้วิธีกดดันทางการทูตและทางเศรษฐกิจต่อประเทศกลุ่มโอเปก มาตรการอื่นๆที่ได้นำมาใช้เพื่อต้านทานอำนาจทางเศรษฐกิจของโอเปก คือ (1) สร้างคลังน้ำมันเก็บไว้ใต้ดินในปริมาณมากๆ (2) รัฐบาลส่งเสริมให้มีการพัฒนาแหล่งพลังงานอื่นที่นำมาใช้ทดแทนน้ำมัน (3) ดำเนินโครงการประหยัดน้ำมันที่สำคัญๆ(4) มีนโยบายชักจูงให้มีการผลิตน้ำมันในประเทศให้มากยิ่งขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า ทั้งนี้โดยให้ตั้งราคาน้ำมันที่ผลิตได้ภายในประเทศในราคาพิเศษ โดยการดำเนินมาตรการข้างต้นผนวกกับการที่สมาชิกโอเปกไม่สามารถจำกัดการผลิตและตรึงราคาไว้ได้ ก็จึงทำให้ในทศวรรษปี 1980 มีน้ำมันออกมาจำหน่ายในตลาดโลกมากและน้ำมันก็จึงมีราคาถูกมาก อย่างไรก็ดี หากประเทศกลุ่มโอเปกยุติส่งน้ำมันไปให้ประเทศพัฒนาเสียแล้ว ประเทศพัฒนาเหล่านี้ก็จะประสบกับความหายนะอย่างใหญ่หลวง บางทีอาจจะมีการใช้การทหารเข้าแทรกแซงในตะวันออกกลางไปเลยก็ได้ ด้วยเหตุที่แหล่งสำรองน้ำมันของโลกได้หมดเปลืองไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นก็จะต้องมีการพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่มาใช้ทดแทนน้ำมันให้ได้ภายในสองทศวรรษ(20 ปี)นี้ หากไม่ต้องการพึ่งพาโอเปกอยู่อย่างนี้และไม่ต้องการให้เกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป


Trade Policy Organization : Uruguay Round

Trade Policy Organization : Uruguay RoundUruguay Round :รอบอุรุกวัย

รอบอุรุกวัย (Uruguay Round)  คือ รอบใหม่ของการเจรจาเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ ที่ดำเนินการโดยองค์การการตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า(แกตต์) รอบอุรุกวัยนี้เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1986 เมื่อรัฐมนตรีจากรัฐสมาชิกได้เริ่มการเจรจาการค้าในแบบพหุภาคีรอบใหม่ที่กรุงปุนตา เดลเอสเต ประเทศอุรุกวัย การลดอัตราภาษีศุลกากรแก่สินค้าและบริการได้ถูกนำมาพิจารณาในรอบอุรุกวัยนี้ หลังจากเปิดอภิปรายกันที่กรุงปุนตา เดลเอสเตนี้แล้ว ก็ได้ไปเจรจากันต่อที่สำนักงานใหญ่ของแกตต์ที่เจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ความสำคัญ  รอบอุรุกวัยเป็นการเจรจาการค้าระดับพหุภาคีรอบใหญ่รอบที่ 8 ที่ดำเนินการโดยแกตต์นับแต่ได้จัดตั้งแกตต์มาให้เป็นองค์กรเพื่อการเจรจา การเจรจาหลายครั้งได้เกิดผลทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น การเจรจารอบเคนเนดี้(ระหว่าง ค.ศ. 1964-1967) เป็นผลให้มีการลดระดับภาษีศุลกากรของโลกลงมาถึงหนึ่งในสามและช่วยเปิดประชาคมยุโรป(อีซี) ให้ทำการค้ากับประเทศภายนอกได้สำเร็จ ส่วนการเจรจารอบโตเกียว(ระหว่าง ค.ศ. 1973-1978) ก็ได้มีการเน้นให้เห็นถึงความจำเป็นในการส่งสินค้าออกของประเทศกำลังพัฒนาและแก้ปัญหาเกี่ยวกับอุปสรรคทางการค้าอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีศุลกากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจารอบอุรุกวัยนี้มีความสำคัญ เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตลาดโลกและเพื่อต่อต้านลัทธิปกป้องทางการค้า ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นมากเมื่อไม่นานปีมานี้

บทความที่ได้รับความนิยม